การจัดการเว็บไซต์ที่ให้บริการในหลายภูมิภาคและหลายภาษา

หากเว็บไซต์ของคุณนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างกันแก่ผู้ใช้ในภาษา ประเทศ หรือภูมิภาคต่างๆ คุณเพิ่มประสิทธิภาพผลการค้นหาใน Google Search สำหรับเว็บไซต์ดังกล่าวได้

หลายภูมิภาคกับหลายภาษามีความแตกต่างกันอย่างไร

  • เว็บไซต์ที่มีหลายภาษา คือเว็บไซต์ที่เสนอเนื้อหามากกว่า 1 ภาษา ตัวอย่างเช่น ธุรกิจในแคนาดาที่มีเว็บไซต์เวอร์ชันภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส Google Search จะพยายามค้นหาหน้าเว็บที่ตรงกับภาษาของผู้ค้นหา
  • เว็บไซต์ที่ให้บริการในหลายภูมิภาค คือเว็บไซต์ที่กำหนดเป้าหมายผู้ใช้ในประเทศต่างๆ อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตสินค้าที่จัดส่งไปยังแคนาดาและสหรัฐอเมริกา Google Search จะพยายามค้นหาหน้าเว็บของสถานที่ที่ถูกต้องสำหรับผู้ค้นหา

เว็บไซต์บางเว็บเป็นทั้งแบบหลายภูมิภาคและหลายภาษา (ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์หนึ่งอาจมีเวอร์ชันที่แตกต่างกันสำหรับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และมีทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษสำหรับเนื้อหาในแคนาดา)

การจัดการเว็บไซต์ที่มีเวอร์ชันหลายภาษา

หากเว็บไซต์ของคุณมีเนื้อหาที่เหมือนกันหลายภาษา ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้ผู้ใช้ (และ Google Search) พบหน้าเว็บที่ถูกต้อง

ใช้ URL ที่แตกต่างกันสำหรับเวอร์ชันภาษาต่างๆ

Google ขอแนะนำให้ใช้ URL ที่ต่างกันสำหรับหน้าเว็บแต่ละภาษาแทนการใช้คุกกี้หรือการตั้งค่าเบราว์เซอร์เพื่อปรับภาษาของเนื้อหาในหน้าเว็บ

หากใช้ URL ที่แตกต่างกันสำหรับภาษาต่างๆ ให้ใช้หมายเหตุประกอบ hreflang เพื่อช่วยให้ผลการค้นหาของ Google ลิงก์กับเวอร์ชันภาษาที่ถูกต้องของหน้าเว็บ

หากคุณต้องการเปลี่ยนเนื้อหาแบบไดนามิกหรือเปลี่ยนเส้นทางของผู้ใช้ตามการตั้งค่าภาษา โปรดทราบว่า Google อาจไม่พบและไม่ทำการ Crawl เนื้อหาทุกเวอร์ชัน เนื่องจาก Crawler Googlebot มักมาจากสหรัฐอเมริกา และ Crawler จะส่งคำขอ HTTP โดยไม่มีการตั้งค่า Accept-Language ในส่วนหัวของคำขอด้วย

แจ้งให้ Google ทราบเกี่ยวกับเวอร์ชันภาษาต่างๆ

Google รองรับวิธีติดป้ายกำกับเวอร์ชันภาษาหรือภูมิภาคของหน้าเว็บหลายวิธีด้วยกัน เช่น คำอธิบายประกอบ hreflang และ Sitemap ดังนั้นอย่าลืมทำเครื่องหมายหน้าเว็บให้เหมาะสม

ตรวจสอบว่าภาษาของหน้านั้นชัดเจน

Google จะใช้เนื้อหาที่มองเห็นได้ในหน้าเพื่อระบุภาษาของหน้านั้นๆ เราไม่ได้ใช้ข้อมูลภาษาระดับโค้ดอย่างแอตทริบิวต์ lang หรือ URL คุณช่วยให้ Google ระบุภาษาถูกได้โดยใช้ภาษาเดียวสำหรับเนื้อหาและการนำทางในแต่ละหน้า และหลีกเลี่ยงการแสดงคำแปลควบคู่กันไปด้วย

การแปลเฉพาะข้อความต้นแบบบนหน้าต่างๆ โดยที่ยังคงเนื้อหาส่วนใหญ่ให้เป็นภาษาเดียวไว้นั้น (ดังที่มักเกิดขึ้นในหน้าที่มีเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น) อาจสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีแก่ผู้ใช้ หากเนื้อหาเดิมปรากฏขึ้นมาหลายครั้งในผลการค้นหาพร้อมกับภาษาต้นแบบที่หลากหลาย

ใช้ robots.txt เพื่อบล็อกเครื่องมือค้นหาไม่ให้ทำการ Crawl หน้าที่แปลโดยอัตโนมัติบนเว็บไซต์ การแปลอัตโนมัติอาจไม่สามารถเข้าใจได้และอาจถูกมองว่าเป็นสแปม ยิ่งไปกว่านั้น การแปลที่ไม่ลื่นไหลอาจส่งผลเสียต่อมุมมองที่ผู้ใช้มีต่อเว็บไซต์ด้วย

ให้ผู้ใช้เปลี่ยนภาษาของหน้าเว็บ

หากคุณมีหน้าเว็บหลายเวอร์ชัน ให้ทำดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนเส้นทางผู้ใช้โดยอัตโนมัติจากเว็บไซต์เวอร์ชันภาษาหนึ่งไปยังเว็บไซต์เวอร์ชันภาษาอื่น ตัวอย่างเช่น อย่าเปลี่ยนเส้นทางโดยอิงตามสิ่งที่คุณคิดว่าภาษาของผู้ใช้อาจจะเป็นภาษานั้น เพราะอาจทำให้ผู้ใช้ (และเครื่องมือค้นหา) ดูเว็บไซต์ทุกเวอร์ชันไม่ได้
  • ควรเพิ่มไฮเปอร์ลิงก์ที่ไปยังหน้าเวอร์ชันภาษาต่างๆ วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ใช้คลิกเพื่อเลือกหน้าเวอร์ชันภาษาอื่นได้

ใช้ URL ภาษาท้องถิ่น

คุณจะใช้คำแปลใน URL หรือใช้ชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น (IDN) ก็ได้ แต่อย่าลืมใช้การเข้ารหัส UTF-8 ใน URL (อันที่จริงเราขอแนะนำให้ใช้ UTF-8 เมื่อเป็นไปได้) และกำหนด URL เป็นอักขระหลีกอย่างเหมาะสมเมื่อทำการลิงก์

การกำหนดเนื้อหาเว็บไซต์ไปยังประเทศที่ต้องการ (การกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์)

คุณกำหนดเป้าหมายเว็บไซต์หรือบางส่วนของเว็บไซต์ไปยังผู้ใช้ในประเทศใดประเทศหนึ่งที่ใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งได้ วิธีนี้ช่วยปรับปรุงการจัดอันดับหน้าเว็บในประเทศเป้าหมายได้ แต่อาจต้องแลกกับการไม่ได้แสดงผลการค้นหาในภาษาอื่น

วิธีกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ให้เว็บไซต์ของคุณใน Google

อย่าลืมว่าการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่มีความแม่นยำ 100% จึงควรพิจารณาผู้ใช้ที่เข้าไปยังเวอร์ชัน "ที่ไม่ถูกต้อง" ของเว็บไซต์ด้วย วิธีหนึ่งที่ทำได้คือแสดงลิงก์ในหน้าทุกหน้าให้ผู้ใช้ได้เลือกภูมิภาคและ/หรือภาษาที่ตนต้องการ

การใช้ URL ภาษาท้องถิ่น

ลองพิจารณาการใช้โครงสร้าง URL ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการกำหนดเป้าหมายของเว็บไซต์หรือบางส่วนของเว็บไซต์ตามภูมิศาสตร์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ตารางต่อไปนี้จะอธิบายตัวเลือกที่มีให้คุณ

ตัวเลือกโครงสร้าง URL
โดเมนเจาะจงประเทศ

example.de

ข้อดี

  • การกำหนดเป้าหมายทางภูมิศาตร์ที่ชัดเจน
  • ตำแหน่งเซิร์ฟเวอร์ไม่เกี่ยวข้องกัน
  • แยกเว็บไซต์ได้ง่าย

ข้อเสีย

  • ราคาแพง (อาจมีความพร้อมใช้งานที่จำกัด)
  • ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น
  • ข้อกำหนดของ ccTLD เข้มงวด (บางครั้ง)
  • กำหนดเป้าหมายได้เพียงประเทศเดียวเท่านั้น
โดเมนย่อยที่มี gTLD

de.example.com

ข้อดี

  • ตั้งค่าได้ง่าย
  • อนุญาตตำแหน่งของเซิร์ฟเวอร์ที่หลากหลาย
  • แยกเว็บไซต์ได้ง่าย

ข้อเสีย

  • ผู้ใช้อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์จาก URL เพียงอย่างเดียวได้ ("de" อาจหมายถึงภาษาหรือประเทศก็ได้)
ไดเรกทอรีย่อยที่มี gTLD

example.com/de/

ข้อดี

  • ตั้งค่าได้ง่าย
  • ไม่ต้องบำรุงรักษามาก (โฮสต์เดียวกัน)

ข้อเสีย

  • ผู้ใช้อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์จาก URL เพียงอย่างเดียวได้
  • ตำแหน่งเซิร์ฟเวอร์เดียว
  • แยกเว็บไซต์ได้ยากกว่า
พารามิเตอร์ URL

site.com?loc=de

ไม่แนะนำ

ข้อเสีย

  • แบ่งกลุ่มตาม URL ได้ยาก
  • ผู้ใช้อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์จาก URL เพียงอย่างเดียวได้

Google ระบุภาษาเป้าหมายได้อย่างไร

Google อาศัยสัญญาณหลายอย่างในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ดีที่สุดสำหรับหน้าเว็บดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ชื่อโดเมนระดับบนสุดตามรหัสประเทศ (ccTLD) ชื่อโดเมนเหล่านี้จะบ่งบอกถึงประเทศนั้นๆ (ตัวอย่างเช่น .de สำหรับเยอรมนี, .cn สำหรับจีน) จึงเป็นสัญญาณสำคัญให้กับทั้งผู้ใช้และเครื่องมือค้นหาว่าเว็บไซต์ของคุณเจาะจงสำหรับบางประเทศอย่างชัดเจน (บางประเทศมีข้อจำกัดว่าใครสามารถใช้ ccTLD ได้บ้าง จึงควรตรวจสอบมาก่อน) นอกจากนี้ เรายังถือว่า Vanity ccTLD บางรายการ (เช่น .tv และ .me) เป็นเหมือน gTLD เนื่องจากพบว่าผู้ใช้และเจ้าของเว็บไซต์มักมองว่า Vanity ccTLD เหล่านี้เป็นโดเมนทั่วไป ดูรายการ gTLD ของ Google
  • คำสั่ง hreflang ไม่ว่าจะเป็นในแท็ก ส่วนหัว หรือ Sitemap
  • ตำแหน่งของเซิร์ฟเวอร์ (ผ่านที่อยู่ IP ของเซิร์ฟเวอร์) ตำแหน่งของเซิร์ฟเวอร์มักมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้ผู้ใช้และใช้เป็นสัญญาณเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของเว็บไซต์ได้ บางเว็บไซต์ใช้เครือข่ายการแสดงเนื้อหา (CDN) แบบกระจายหรือที่มีการโฮสต์อยู่ในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานของเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่ดีกว่า จึงไม่ถือว่าเป็นสัญญาณที่สมบูรณ์ที่สุด
  • สัญญาณอื่นๆ สัญญาณอื่นๆ ในการระบุกลุ่มเป้าหมายที่เว็บไซต์กำหนดอาจรวมถึง ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ในหน้า การใช้ภาษาและสกุลเงินท้องถิ่น ลิงก์จากเว็บไซต์ท้องถิ่นอื่นๆ หรือสัญญาณจาก Business Profile ของคุณ (หากมี)

สิ่งที่ Google ไม่ได้ทำมีดังนี้

  • Google รวบรวมข้อมูลในเว็บจากที่ต่างๆ ทั่วโลก เราไม่พยายามเปลี่ยนแหล่งที่มาของ Crawler ที่ใช้สำหรับเว็บไซต์เดียวเพื่อหาเวอร์ชันต่างๆ ที่เป็นไปได้ในหน้าเว็บ ดังนั้นอย่าลืมแจ้งให้ Google ทราบอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับภาษาหรือรูปแบบภาษาที่เว็บไซต์แสดง โดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่แสดงไว้ที่นี่ (เช่น รายการ hreflang, ccTLD หรือลิงก์ที่ชัดเจน)
  • Google ไม่สนใจแท็ก meta ที่เกี่ยวข้องกับตําแหน่ง (เช่น geo.position หรือ distribution) หรือแอตทริบิวต์ HTML สำหรับการกำหนดเป้าหมายตามภูมิศาสตร์

การจัดการหน้าที่ซ้ำกันโดยใช้เว็บไซต์หลายภาษา/หลายภูมิภาค

หากเว็บไซต์หลายภูมิภาคของคุณมีเนื้อหาที่คล้ายกันหรือซ้ำกันโดยใช้ URL ต่างกันทั้งๆ ที่ใช้ภาษาเดียวกัน (เช่น หากทั้ง example.de/ และ example.com/de/ แสดงเนื้อหาภาษาเยอรมันที่คล้ายกัน) ให้เลือกเวอร์ชันที่ต้องการ และใช้เอลิเมนต์ rel="canonical" และ hreflang เพื่อให้ภาษาหรือ URL ตามภูมิภาคที่ถูกต้องแสดงต่อผู้ค้นหา

โดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไป

โดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไป (gTLD) เป็นโดเมนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับสถานที่ตั้งใดโดยเฉพาะ หากเว็บไซต์มีโดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไป เช่น .com, .org หรือโดเมนที่อยู่ด้านล่าง และต้องการกำหนดผู้ใช้เป้าหมายในสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงแล้ว ให้กำหนดประเทศเป้าหมายให้ชัดเจนโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้

Google จะถือว่าโดเมนระดับบนสุดต่อไปนี้เป็น gTLD

  • โดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไป (gTLD): Google จะถือว่าโดเมนระดับบนสุดที่แปลงผ่านโซนระดับรากของ IANA DNS เป็นเหมือน gTLD เว้นแต่ว่า ICANN จะใส่โดเมนระดับบนสุดว่าเป็นโดเมนระดับบนสุดตามรหัสประเทศ (ccTLD) เช่น
    • .com
    • .org
    • .edu
    • .gov
    • และอีกมากมาย...
  • โดเมนระดับบนสุดตามภูมิภาคแบบทั่วไป: ถึงแม้โดเมนต่อไปนี้จะเชื่อมโยงกับสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่โดยทั่วไปจะถือว่าเป็นเหมือนโดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไป (คล้ายกับ .com หรือ .org)
    • .eu
    • .asia
  • โดเมนระดับบนสุดตามรหัสประเทศแบบทั่วไป (ccTLD): Google จะถือว่า ccTLD บางรายการ (เช่น .tv และ .me) เป็นเหมือน gTLD เนื่องจากเราพบว่าผู้ใช้และเจ้าของเว็บไซต์มักมองว่ารายการเหล่านี้เป็นโดเมนแบบทั่วไปมากกว่าโดเมนแบบกำหนดเป้าหมายประเทศ ccTLD ดังกล่าวมีดังต่อไปนี้ (รายการนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง)
    • .ad
    • .ai
    • .as
    • .bz
    • .cc
    • .cd
    • .co
    • .dj
    • .fm
    • .io
    • .la
    • .me
    • .ms
    • .nu
    • .sc
    • .sr
    • .su
    • .tv
    • .tk
    • .ws