การทํางานกับเว็บไซต์หลายภาษา

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2010

เว็บไซต์หลายภาษาคือเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหามากกว่า 1 ภาษา ตัวอย่างของเว็บไซต์หลายภาษาอาจรวมถึงธุรกิจของแคนาดาที่มีไซต์เวอร์ชันภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส หรือบล็อกเกี่ยวกับฟุตบอลของละตินอเมริกามีให้บริการในภาษาสเปนและโปรตุเกส

โดยปกติ คุณควรมีเว็บไซต์หลายภาษาเมื่อกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้พูดภาษาต่างๆ หากบล็อกเกี่ยวกับฟุตบอลของลาตินอเมริกาของคุณต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชาวบราซิล คุณอาจเลือกเผยแพร่เฉพาะภาษาโปรตุเกสเท่านั้น แต่หากคุณต้องการเข้าถึงแฟนฟุตบอลจากอาร์เจนตินาด้วย การแสดงเนื้อหาเป็นภาษาสเปนก็อาจช่วยคุณได้

Google และการจดจําภาษา

Google จะพยายามระบุภาษาหลักของหน้าเว็บแต่ละหน้า คุณอาจช่วยให้การจดจําภาษาง่ายขึ้นหากใช้ภาษาเพียง 1 ภาษาต่อหน้า และหลีกเลี่ยงคําแปลแบบแสดงคู่กัน แม้ Google จะรู้ว่าหน้าเว็บใช้ภาษามากกว่า 1 ภาษา แต่เราขอแนะนําให้ใช้ภาษาเดียวกันสําหรับทุกองค์ประกอบของหน้าเว็บ เช่น ส่วนหัว แถบด้านข้าง เมนู ฯลฯ

โปรดทราบว่า Google ไม่สนใจข้อมูลภาษาระดับโค้ดทั้งหมด ตั้งแต่แอตทริบิวต์ "lang" ไปจนถึงคำนิยามประเภทเอกสาร (Document Type Definitions หรือ DTD) โปรแกรมแก้ไขเว็บบางโปรแกรมจะสร้างแอตทริบิวต์เหล่านี้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือมากนักเมื่อพยายามระบุภาษาของหน้าเว็บ

ผู้ที่เข้ามายัง Google และทําการค้นหาเป็นภาษาของตนคาดว่าจะพบผลการค้นหาที่แปลแล้ว และจุดนี้คือหน้าที่ของคุณซึ่งเป็นผู้ดูแลเว็บ หากคุณต้องการแปลหน้าเว็บ ก็ควรทำให้มองเห็นได้ในผลการค้นหา เคล็ดลับบางส่วนของเรามีดังนี้

กายวิภาคของเว็บไซต์หลายภาษา: โครงสร้าง URL

คุณไม่จําเป็นต้องสร้าง URL เฉพาะเมื่อพัฒนาเว็บไซต์หลายภาษา อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้อาจอยากจะรู้ส่วนของเว็บไซต์ที่ตนใช้งานอยู่ได้เพียงแค่ดูที่ URL เช่น URL ต่อไปนี้จะบอกให้ผู้ใช้ทราบว่าตนอยู่ในส่วนภาษาอังกฤษของเว็บไซต์ https://example.ca/en/mountain-bikes.html หรือ https://en.example.ca/mountain-bikes.html ในขณะที่ URL อื่นๆ เหล่านี้จะบอกให้ผู้ใช้ทราบว่าตนกำลังดูหน้าเดียวกันในภาษาฝรั่งเศส เช่น https://example.ca/fr/mountain-bikes.html หรือ https://fr.example.ca/mountain-bikes.html นอกจากนี้ โครงสร้าง URL นี้จะช่วยให้คุณวิเคราะห์การจัดทําดัชนีเนื้อหาหลายภาษาได้ง่ายขึ้น

หากต้องการสร้าง URL ที่มีอักขระที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ให้ใช้การเข้ารหัส UTF-8 URL ที่เข้ารหัส UTF-8 ควรกําหนดเป็นอักขระหลีกอย่างเหมาะสมเมื่อลิงก์จากภายในเนื้อหา หากต้องการกำหนด URL เป็นอักขระหลีกด้วยตนเอง คุณสามารถหาโปรแกรมเปลี่ยนไฟล์ URL ออนไลน์ได้ง่ายๆ ที่จะทำให้คุณได้ เช่น ถ้าอยากแปล URL https://example.ca/fr/mountain-bikes.html จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศส ก็อาจได้ URL ที่มีลักษณะดังนี้ https://example.ca/fr/vélo-de-montagne.html เนื่องจาก URL นี้มีอักขระที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ (é) อยู่ 1 ตัว จึงต้องมีลักษณะเป็นอักขระหลีกอย่างถูกต้องสําหรับการใช้งานในลิงก์บนหน้าเว็บ: https://example.ca/fr/v%C3%A9lo-de-montagne.html

การ Crawl และการจัดทําดัชนีเว็บไซต์หลายภาษา

ขอแนะนําว่าคุณไม่ควรอนุญาตให้จัดทําดัชนีคําแปลอัตโนมัติ การแปลอัตโนมัติอาจไม่สามารถเข้าใจได้เสมอไป และอาจถูกมองว่าเป็นสแปม ยิ่งไปกว่านั้น จุดประสงค์ของการสร้างเว็บไซต์หลายภาษาคือการเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างโดยการนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่าในหลายภาษา หากผู้ใช้ไม่เข้าใจการแปลอัตโนมัติหรือรู้สึกว่าคำแปลเหล่านั้นไม่ถูกต้อง คุณก็ควรถามตัวเองว่าต้องการนำเสนอเนื้อหาประเภทนี้จริงๆ ไหม

หากคุณจะทําเวอร์ชันแปล โปรดทำให้ Googlebot ทำการ Crawl เว็บไซต์ทุกภาษาได้โดยง่าย พิจารณาใช้หน้าการแลกเปลี่ยนลิงก์ กล่าวคือ คุณอาจระบุลิงก์ระหว่างหน้าที่มีเนื้อหาเดียวกันในภาษาต่างๆ ได้ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ของคุณด้วย จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ สมมติว่าผู้ใช้ชาวฝรั่งเศสบังเอิญไปที่ https://example.ca/en/mountain-bikes.html และตอนนี้เพียงแค่คลิก 1 ครั้งก็จะพาผู้ใช้ไปที่ https://example.ca/fr/vélo-de-montagne.html เพื่อดูเนื้อหาเดียวกันในภาษาฝรั่งเศสได้

หากต้องการให้เนื้อหาทั้งหมดในเว็บไซต์สามารถ Crawl ได้มากขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนเส้นทางอัตโนมัติโดยอิงตามภาษาที่ผู้ใช้มองเห็น เพราะอาจทำให้ผู้ใช้ (และเครื่องมือค้นหา) ดูเว็บไซต์ทุกเวอร์ชันไม่ได้

และสุดท้าย ให้เก็บเนื้อหาของแต่ละภาษาใน URL แยกกัน และอย่าใช้คุกกี้เพื่อแสดงเวอร์ชันที่แปลแล้ว

การทํางานกับการเข้ารหัสอักขระ

Google จะแตกการเข้ารหัสอักขระจากส่วนหัว HTTP, ส่วนหัวของหน้า HTML และเนื้อหาโดยตรง คุณไม่จําเป็นต้องทําอะไรเกี่ยวกับการเข้ารหัสอักขระมากไปกว่าการระวังข้อมูลขัดแย้งกัน เช่น ระหว่างเนื้อหาและส่วนหัว แม้ว่า Google จะจดจําการเข้ารหัสอักขระแบบต่างๆ ได้ แต่เราขอแนะนําให้ใช้ UTF-8 ในเว็บไซต์ทุกครั้งที่ทําได้

หากคุณลิ้นพันกัน...

เมื่อรู้ทั้งหมดนี้แล้ว ตัวคุณอาจลิ้นพันกันเมื่อต้องใช้หลายภาษา แต่เว็บไซต์ของคุณไม่เป็นแบบนั้นแน่

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในโพสต์เกี่ยวกับเว็บไซต์หลายภูมิภาค และโปรดติดตามโพสต์ถัดไปที่เราจะเจาะลึกสถานการณ์พิเศษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อทํางานกับเว็บไซต์ที่ใช้งานทั่วโลก ในระหว่างนี้ คุณไปที่ฟอรัมความช่วยเหลือและเข้าร่วมการสนทนาได้นะ