ช่วยทำให้ Google Search รู้วันที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2019

บางครั้ง Google จะแสดงวันที่ไว้ข้างๆ ข้อมูลในผลการค้นหา ในโพสต์นี้เราจะตอบคำถามที่ผู้ดูแลเว็บถามกันบ่อยๆ เกี่ยวกับวิธีระบุวันที่ดังกล่าว พร้อมให้แนวทางปฏิบัติแนะนำเพื่อช่วยให้ระบบระบุวันที่ได้แม่นยำมากขึ้น

วิธีระบุวันที่

Google แสดงวันที่ของหน้าเว็บเมื่อระบบอัตโนมัติเห็นว่ามีความเกี่ยวข้อง เช่น หน้าเว็บที่อาจต้องนำเสนอให้ทันเวลาอย่างเนื้อหาข่าว

บรรทัดวันที่ในผลการค้นหา

Google ระบุวันที่โดยใช้ปัจจัยหลายประการซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงวันที่ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในตัวหน้าเว็บ หรือวันที่ที่ผู้เผยแพร่เนื้อหาให้ไว้ผ่านมาร์กอัป Structured

Google ไม่ได้พิจารณาเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพราะทุกปัจจัยอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ผู้เผยแพร่เนื้อหาอาจไม่ได้ระบุวันที่ที่มองเห็นได้ชัดเจนเสมอไป บางครั้ง Structured Data อาจขาดหายไปหรือไม่ได้ปรับให้เข้ากับเขตเวลาที่ถูกต้อง ดังนั้นระบบจึงต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยเพื่อให้ทราบวันที่ที่เราถือว่าเป็นการประมาณที่ดีที่สุดของวันเผยแพร่หน้าเว็บหรือหน้าเว็บมีการอัปเดตที่สำคัญ

วิธีระบุวันที่ในหน้าเว็บ

เจ้าของเว็บไซต์และผู้เผยแพร่เนื้อหาควรทำดังนี้เพื่อช่วย Google เลือกวันที่ที่ถูกต้อง

  • แสดงวันที่ให้ชัดเจน: แสดงวันที่ที่มองเห็นได้ชัดเจนในหน้าเว็บ
  • ใช้ Structured Data: ใช้สคีมา datePublished และ dateModified กับตัวระบุเขตเวลาที่ถูกต้องสําหรับ AMP หรือหน้าที่ไม่ใช่ AMP เมื่อใช้ Structured Data ให้ใช้รูปแบบ ISO 8601 สําหรับวันที่

หลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับ Google News

Google News กำหนดให้แสดงทั้งวันที่และเวลาที่เผยแพร่หรืออัปเดตเนื้อหาอย่างชัดเจน การใช้ Structured Data เพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ขอแนะนำให้ใช้ Structured Data ควบคู่กับวันที่และเวลาที่มองเห็นได้ ตำแหน่งของวันที่และเวลาควรอยู่ระหว่างพาดหัวและข้อความของบทความ ดูคําแนะนําเพิ่มเติมได้ที่หน้าความช่วยเหลือเกี่ยวกับวันที่ของบทความ

หากบทความมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ก็ควรระบุวันที่และเวลาที่เป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม โปรดอย่าอัปเดตเรื่องราวโดยที่ไม่ได้เพิ่มข้อมูลสำคัญหรือเหตุผลที่น่าสนใจอื่นๆ ในการอัปเดต และอย่าสร้างเรื่องราวที่มีการอัปเดตเพียงเล็กน้อยจากเรื่องราวที่มีการเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ โดยลบเรื่องราวเก่าและเปลี่ยนเส้นทางไปยังเรื่องราวใหม่ เพราะการทำเช่นนี้ขัดกับหลักเกณฑ์ด้าน URL ของบทความ

แนวทางปฏิบัติแนะนำเพิ่มเติมสำหรับวันที่ในหน้าเว็บ

นอกจากข้อกำหนดที่สำคัญที่สุดซึ่งระบุไว้ข้างต้นแล้ว โปรดดูแนวทางปฏิบัติแนะนำเพิ่มเติมต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ Google ระบุวันที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะพิจารณาให้แสดงในหน้าเว็บ

  • แสดงเมื่อมีการอัปเดตหน้าเว็บ: หากคุณทำการอัปเดตที่สำคัญในหน้าเว็บก็ควรอัปเดตวันที่ที่มองเห็นได้ (รวมถึงเวลาหากคุณแสดงไว้) ด้วย คุณแสดง 2 วันที่ได้หากต้องการ คือวันที่ที่เผยแพร่หน้าเว็บครั้งแรกและวันที่ที่มีการอัปเดต โดยทำในลักษณะที่ผู้อ่านมองเห็นได้ชัดเจน หากแสดงทั้ง 2 วันที่ ขอแนะนําให้ใช้ datePublished และ dateModified สําหรับ AMP หรือหน้าที่ไม่ใช่ AMP เพื่อให้อัลกอริทึมจดจําได้ง่ายขึ้น
  • ใช้เขตเวลาที่ถูกต้อง: หากมีการระบุเวลา ให้ตรวจสอบว่าได้ระบุเขตเวลาที่ถูกต้องโดยคํานึงถึงเวลาออมแสงตามความเหมาะสม
  • ใช้วันที่เดียวกันทั้งหน้าเว็บ: ภายในหน้าเว็บ ให้ตรวจสอบว่าใช้วันที่ (และเวลา) เดียวกันใน Structured Data รวมถึงส่วนที่มองเห็นได้ในหน้าเว็บ รวมถึงใช้เขตเวลาเดียวกันหากมีระบุอยู่ในหน้าเว็บ
  • อย่าใช้วันที่ในอนาคตหรือวันที่ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของหน้าเว็บ: ใช้วันที่ที่เผยแพร่หรืออัปเดตตัวหน้าเว็บเสมอ ไม่ใช่วันที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เขียนถึงในหน้าเว็บ โดยเฉพาะกิจกรรมหรือเรื่องอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (คุณใช้มาร์กอัปกิจกรรมแยกต่างหากได้ตามความเหมาะสม)
  • ทําตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Structured Data ของ Google: แม้ว่า Google ไม่รับประกันว่าจะใช้วันที่ (หรือ Structured Data ทั่วไป) ที่ระบุไว้ในหน้าเว็บ การทําตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Structured Dataจะช่วยให้อัลกอริทึมของเรามีวันที่ไว้พร้อมให้เครื่องอ่านได้
  • แก้ปัญหาด้วยการแสดงวันที่อื่นๆ ในหน้าเว็บให้น้อยที่สุด: หากคุณทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำข้างต้นแล้วแต่ยังพบว่าระบบเลือกวันที่ไม่ถูกต้อง ให้พิจารณาลบหรือแสดงวันที่อื่นๆ ที่อาจปรากฏในหน้าเว็บให้น้อยที่สุด เช่น วันที่ที่อาจอยู่ติดกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เราหวังว่าแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้คุณระบุวันที่ที่ถูกต้องในหน้าต่างๆ ของเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น หากมีข้อสงสัยหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือหัวข้ออื่นๆ เกี่ยวกับ Structured Data โปรดไปที่ฟอรัมความช่วยเหลือสำหรับผู้ดูแลเว็บ